ทุเรียนไทย เตรียมขึ้นแท่นเบอร์ 1 ผู้ผลิตป้อนตลาดโลก ทะลุ 2 ล้านตัน ปี 68
ม.หอการค้าชี้ ‘ทุเรียนไทย’ เตรียมขึ้นแท่นเบอร์ 1 ผู้ผลิตป้อนตลาดโลก ทะลุ 2 ล้านตัน แซงอินโดนีเซียอีก 5 ปี ชาวสวนมีสิทธิ์ลุ้นราคาส่งออกหมอนทองแตะ กก.290 บาท จับตา “พื้นที่อีสาน” แห่ปลูก
วันที่ 31 มี.ค. 2564 รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ สถาบันทุเรียนไทยเปิดเผย บทวิเคราะห์ อนาคตทุเรียนไทย : โอกาสหรือความเสี่ยง โดยเทียบสถานการณ์ 10 ปี (ปี 2554-2563) ที่ผ่านมา
และแนวโน้ม 5 ปี ข้างหน้า (ปี 2564-2568) พบว่า 10 ปี ที่ผ่านมาโลกส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้น 48.3% จาก 521,028 ตัน ในปี 2554 เป็น 772,860 ตัน ในปี 2563 ส่วน 5 ปี ข้างหน้า โลกส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้น 134.5% เป็น 1,812,201 ตัน ไทยครองแชมป์อันดับ 1 มาโดยตลอด ซึ่งส่งออก 1,044,672 ตัน (57.65%) ในปี 2568 ตามด้วยเวียดนาม 165,465 ตัน (9.13%) และมาเลเซีย 76,379 ตัน (4.21%)
ขณะเดียวกันในอีก 5 ปีข้างหน้า จีนยังคงเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ของโลก ซึ่งนำเข้าเพิ่มขึ้น 95.1% จากปี 2563 เป็น 938,882 ตัน รองมาเป็นฮ่องกง นำเข้าเพิ่มขึ้น 61.4% เป็น 374,245 ตัน
และมีประเทศผู้นำเข้ารายใหม่ที่น่าจับตามอง คือ เกาหลีใต้ และไต้หวัน แม้ว่าปริมาณนำเข้าจะยังไม่มากนัก แต่การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 53.3% และ 35.7% ตามลำดับ
ด้านการผลิตในอาเซียนช่วง 10 ปี (2554-2563) อินโดนีเซียครองแชมป์การผลิตทุเรียนมากที่สุดของโลก ตามด้วยไทย มาเลเชีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ แต่ทุเรียนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ส่งออกน้อยเพราะมีข้อจำกัดด้านคุณภาพและมาตรฐานการส่งออก ซึ่งคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าไทยแซงหน้าอินโดนีเซีย ตามมาด้วย มาเลเซีย และเวียดนาม โดยในปี 2568ผลผลิตทุเรียนไทยมากเป็นอันดับ 1 (39.2%) อินโดนีเซียเป็นอันดับ 2 (30.6%) ของอาเซียน
สำหรับผลผลิตทุเรียนไทย 5 ปีข้างหน้าเพิ่ม 83% (2,028,490 ตัน ในปี 2568) บริโภคในประเทศเพิ่ม 101.7% (983,817 ตัน ในปี 2568) ส่งออกเพิ่มขึ้น 68.3% (1,044,672 ตันในปี 2568) เทียบจากปี 2563 โดยปี 2563 มีสัดส่วนการบริโภคในประเทศ 44% ส่งออก 56% และในปี 2568 จะมีสัดส่วนการบริโภคในประเทศ 48.5% ส่งออก 51.5%
ส่วนผลผลิตทุเรียนอินโดนีเซีย 5 ปีข้างหน้าเพิ่ม 32% (1,581,388 ตัน ในปี 2568) บริโภคในประเทศเพิ่ม 18.8% (1,421,668 ตัน ปี 2568) ส่งออกเพิ่มประมาณ 236 เท่า (159,720 ตัน ในปี 2568) เทียบจากปี 2563 โดยปี 2563 มีสัดส่วนการบริโภคในประเทศ 99.9% ส่งออก 0.1% และในปี 2568 จะมีสัดส่วนการบริโภคในประเทศ 89.9% ส่งออก 10.1%
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ในรายละเอียดช่วง 10 ปี (ปี 2554-2563) ที่ผ่านมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่เพาะปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกภาคในประเทศไทย โดยในปี 2563 เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2554 เนื่องจากปลูกทุเรียนแทนพืชอื่น เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และในปี 2560-2563 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 140,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่าจากปี 2554-2559
สำหรับราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน ปี 2559-2563 ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 11.0 บาท/กก. เพิ่มจากในปี 2554-2558 ที่มีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.6 บาท/กก.
อนาคตราคาทุเรียน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2568) คาดว่าราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน (เฉลี่ยทั้งประเทศ) ในปี 2568 ประมาณ 144 บาท/กก. ราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน เฉลี่ยในปี 2564-2568 ประมาณ 126 บาท/กก.https://6040b9f727d3f04abafd1622b025663b.safeframe.googlesyndication.com/safeframe/1-0-38/html/container.html
โดยแบ่งเป็น 3 กรณี ขึ้นอยู่กับว่า 1) หากจีนนำเข้าทุเรียนไทยน้อยกว่า 10% ราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองไทย ณ ตลาดเจียงหนาน ปี 2568 ประมาณ 177 บาท/กก. ซึ่งเฉลี่ยราคาในปี 2564-2568 ประมาณ 174 บาท/กก. 2) หากจีนนำเข้าทุเรียนไทยเพิ่ม 10-15% ราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองไทย ณ ตลาดเจียงหนาน ปี 2568 ประมาณ 279 บาท/กก. เฉลี่ยราคาในปี 2564-2568 ประมาณ 243 บาท/กก.
และ 3) หากจีนนำเข้าทุเรียนไทยเพิ่มมากกว่า 15% ราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองไทย ณ ตลาดเจียงหนาน ปี 2568 ประมาณ 379 บาท/กก. เฉลี่ยราคาในปี 2564-2568 ประมาณ 290 บาท/กก.
รศ.ดร.อัทธ์ ชี้ว่า ทุเรียนไทยมี 5 โอกาสคือ 1.มีโอกาสในมณฑลชั้นในของจีน 2.มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น 3.โอกาสทุเรียนเฉพาะถิ่น และทุเรียนอัตลักษณ์ท้องถิ่น จะได้รับความนิยมมากขึ้น 4.มีโอกาสพัฒนาคุณภาพ ตาม GMP และ GAP 5.โอกาสในตลาดใหม่ เกาหลี ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และอินเดีย
ขณะเดียวกันทุเรียนไทยมี 9 ความเสี่ยง คือ 1.จีนอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศอื่น 2.ไทยขาดระบบตรวจสอบย้อนกลับ 3.ทุเรียนอ่อน และเครื่องมือในการตรวจ 4.จีนตรวจเข้มมากขึ้น 5.จีนมีการปลูกทุเรียน และพัฒนาสายพันธุ์ 6.ประเทศไทยเน้นส่งออกทุเรียนสด 7.ขาดแพ็กเกจจิ้งในการยืดอายุทุเรียนสด 8.สวมสิทธิ์ทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน 9.ตลาดถูกควบคุมโดยล้ง